การเรียนการสอนของภาควิชาฯ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา
การประเมินคุณภาพการศึกษา ความต้องการของบัณฑิต ผู้ใช้บัณฑิต และนโยบายผลิตแพทย์เพิ่มของรัฐบาล ดังสรุปเป็นเหตุการณ์สำคัญ ได้ดังนี้

  • ในปีการศึกษา 2545 ย้ายฐานการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานหลักของภาควิชาฯ มาที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติยังคงหมุนเวียนปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์ฯ วชิรพยาบาล และโรงพยาบาลตำรวจเช่นเดิม
  • ในปีการศึกษา 2547 ภาควิชาฯ ได้ปรับลดให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 หมุนเวียนปฏิบัติงานในภาควิชาฯ เพียง 9 สัปดาห์ และกำหนดให้มีการสอนหัตถการสำคัญกับนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติตามความต้องการของบัณฑิตและผู้ใช้บัณฑิต ได้แก่ basic obstetrics ultrasound, uterine curettage, cesarean delivery เป็นต้น นอกจากนั้นยังกำหนดให้มีการสอนในหัวข้อ family planning, HA & DRG เพื่อให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่พบบ่อย ๆ ในแผนกสูตินรีเวชกรรม รวมทั้งมีความเข้าใจการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (hospital accreditation) และการใช้กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (diagnostic related group) เป็นแนวทางการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยในประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานของแพทย์เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว
  • ในปีการศึกษา 2549 มีนิสิตแพทย์โครงการร่วมมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมมาเรียนร่วมกับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ภาคปกติเป็นปีแรก
  • ในปีการศึกษา 2550 มีนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 เพิ่มเป็นรุ่นละประมาณ 120 คน และในปีการศึกษานี้ภาควิชาฯ ได้ย้ายฐานการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานของภาควิชาฯ สำหรับนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติออกจากวชิรพยาบาล เหลือเฉพาะโรงพยาบาลตำรวจเป็นสถาบันสมทบเพียงแห่งเดียว
  • ในปีการศึกษา 2550 ภาควิชาฯ เริ่มใช้ระบบ Moodle เป็นระบบหลักในการสนับสนุนการเรียนการสอน ทำให้นิสิตแพทย์สามารถเข้าถึงเอกสารการสอนในรูปแบบเอกสารอิเลคทรอนิคได้สะดวก และมีสื่อการสอนในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
  • ในปีการศึกษา 2552 เป็นปีแรกที่ภาควิชาฯ ปรับให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 หมุนเวียนเรียนและปฏิบัติงานเฉพาะเนื้อหาทางนรีเวชวิทยากลุ่มละ 4 สัปดาห์ และจัดระบบการเรียนการสอนสำหรับหัตถการพื้นฐานทางคลินิกตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2545 โดยภาควิชาฯ กำหนดให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองกับหุ่นและอุปกรณ์สำหรับการตรวจภายในและทำ PAP smear ที่จัดเตรียมไว้หน้าห้องภาควิชาฯ ที่ชั้น 8 อาคารศูนย์การแพทย์ฯ นิสิตแพทย์สามารถศึกษาขั้นตอนการทำหัตถการจากเอกสารประเมินที่ภาควิชาฯ เตรียมไว้ให้ และสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองจากสื่อต่าง ๆ ก่อนมาสอบตัวต่อตัวกับอาจารย์ที่ได้รับมอบหมาย หลังจากนั้นจึงได้ทำหัตถการกับผู้ป่วยโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคุม นับเป็นการเริ่มระบบการเรียนการสอนที่ใช้ศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกของภาควิชาฯ การเรียนการสอนประสบผลเป็นอย่างดีทำให้นิสิตแพทย์มีทักษะในการทำหัตถการดีขึ้นอย่างชัดเจน
  • ในปีการศึกษา 2552 ภาควิชาฯ เริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนทางสูติศาสตร์สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 จาก disease base เป็น clinical and symptom base และปรับให้มีความสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2545 และเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2553
  • ในปีการศึกษา 2553 เป็นปีแรกที่มีนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 หมุนเวียนเรียนและปฏิบัติงานเฉพาะเนื้อหาทางสูติศาสตร์กลุ่มละ 5 สัปดาห์ การเรียนการสอนของภาควิชาฯ จึงมีครบทั้งสามชั้นปีทางคลินิกเป็นครั้งแรก ในปีการศึกษานี้ภาควิชาฯ กำหนดให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองกับหุ่นและอุปกรณ์สำหรับการทำหัตถการ normal delivery ก่อนมาสอบตัวต่อตัวกับอาจารย์ที่ได้รับมอบหมาย หลังจากนั้นนิสิตแพทย์ต้องผ่านการประเมินการเข้าช่วยทำคลอดก่อนที่จะทำหัตถการจริงโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคุม การเรียนการสอนประสบผลเป็นอย่างดีทำให้นิสิตแพทย์มีทักษะในการทำหัตถการดีขึ้นอย่างชัดเจน
  • ในปีการศึกษา 2553 ทางภาควิชาฯ ปรับปรุงการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามคำแนะนำของคณะกรรมการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในสถาบันผลิตแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการนี้ได้รับความสนับสนุนจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กรมอนามัย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การ UNICEF ประเทศไทย โดยเริ่มให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ฝึกปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือมารดาแรกคลอดเพื่อเอาทารกเข้าเต้าและช่วยแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หอผู้ป่วยหลังคลอด โดยมีอาจารย์พิเศษเป็นพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ การสอนข้างต้นประสบผลเป็นอย่างดีทำให้นิสิตแพทย์และแพทย์มีทัศนคติที่ดีและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • ในปีการศึกษา 2555 ภาควิชาฯ ปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนสำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4, 5 และ 6 ให้เป็นแบบ clinical and symptom base ทั้งหมด รวมทั้งจัดการเรียนการสอนสำหรับทักษะและหัตถการให้มีความสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555 และเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2556 เป็นต้นมา
  • ในเดือนมีนาคม 2556 ทางภาควิชาฯ เริ่มใช้ระบบฝากครรภ์อิเลคโทรนิค หรือ electronic medical record for antenatal care (EMR-ANC) และเริ่มใช้ระบบใบย่อคลอดอิเลคโทรนิค หรือ electronic medical record for labor room (EMR-LR) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ระบบนี้อาจารย์ในภาควิชาฯ พัฒนาร่วมกับบริษัท EMR นับเป็นการใช้งานระบบเวชระเบียนอิเลคทรอนิคอย่างเป็นระบบให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแผนกให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นภาควิชาแรก ระบบนี้สนับสนุนการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และส่งเสริมงานวิจัยของภาควิชาฯ โดยช่วยบริหารการฝากครรภ์ให้ครบตามวัตถุประสงค์หลักคือ
    • การคำนวณและแก้ไขอายุครรภ์ให้ถูกต้อง
    • ระบบเพิ่มความสะดวกในการดูผลการตรวจเลือดของทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามีโดยผูกเวชระเบียนอิเลคโทรนิคของทั้งสองคนด้วย ANC number ทำให้ระบบสามารถดึงผลการตรวจคัดกรองของทั้งสองคนมาแสดงอยู่บนหน้าจอเดียวกัน ระบบดังกล่าวช่วยสนับสนุนการตรวจคัดกรองและควบคุมโรคพันธุกรรมที่สำคัญ
    • เป็นระบบการประเมินความเสี่ยง และบันทึกแผนการดูแลรักษาให้สามารถเชื่อมโยงการดูแลรักษาทั้งในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอดได้อย่างเหมาะสม

ระบบสนับสนุนการเรียนการสอนระดับก่อนปริญญาโดยให้นิสิตแพทย์มีรหัสส่วนตัวที่สามารถเข้าถึงระบบได้บางส่วน หรือเรียกว่า partial license นิสิตแพทย์จึงมีบทบาทคล้ายแพทย์คือสามารถใส่ข้อมูลการฝากครรภ์ การคลอด และแผนการดูแลรักษาเข้าไปในระบบก่อนที่จะให้อาจารย์หรือแพทย์ผู้สอนตรวจสอบความถูกต้องก่อนอนุมัติข้อมูลให้เข้าไปเก็บในระบบ EMR-ANC และ EMR-LR ระบบข้างต้นได้รับการตอบรับที่ดีโดยนิสิตแพทย์เพราะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

  • ในปีการศึกษา 2556 ภาควิชาฯ เริ่มพัฒนาระบบตรวจสอบความสมบูรณ์ของเวชระเบียน เริ่มต้นโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบบรรยายความสำคัญและแนวทางในการทำให้เวชระเบียนมีคุณภาพคือ รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ และ พอ.นพ.กนธีร์ สังขวาสี หลังจากนั้นจึงได้วางแผนร่วมมือกันในภาควิชาฯ โดยมีอาจารย์ในภาควิชาฯ หลายท่านร่วมตรวจสอบความสมบูรณ์ของเวชระเบียนผู้ป่วยในทุกฉบับ ทำให้เวชระเบียนของภาควิชาฯ มีความครบถ้วนทุกส่วนและมีเนื้อหาสมบูรณ์ แพทย์ประจำบ้านและนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติทุกคนผ่านการสอนและอบรมให้เข้าใจความสำคัญและวิธีทำเวชระเบียนในมีความสมบูรณ์ โดยเรียนรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง
  • ในปีการศึกษา 2557 ภาควิชาฯ ได้เปิด “ศูนย์นมแม่” ที่แผนกผู้ป่วยนอกจึงได้ย้ายการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 สำหรับการฝึกปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาที่ศูนย์นมแม่ นอกจากนั้นภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ฝึกปฏิบัติกับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในห้องคลอดเพื่อฝึกประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ระหว่างเจ็บครรภ์คลอดตามเทคนิค intermittent auscultation พร้อมไปกับการประเมินการหดรัดตัวของมดลูก รวมทั้งฝึกช่วยเหลือให้มารดาและทารกแรกคลอดมี early bonding การเรียนการสอนข้างต้นทำให้นิสิตแพทย์มีทักษะการดูแลผู้ป่วยพื้นฐานในห้องคลอดที่เหมาะสม รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ
  • ในปีการศึกษา 2557-2560 นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 159, 171, 193 และ 186 คนตามลำดับ ภาควิชาฯ และแผนกสูตินรีเวชกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานได้จัดทำแผนการสอนร่วมกันเพื่อให้มีมาตรฐานการสอนเดียวกันตามนโยบายของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยถือหลักให้นิสิตแพทย์รุ่นเดียวกันผลัดเปลี่ยนให้มีโอกาสหมุนเวียนปฏิบัติงานผ่านศูนย์การแพทย์ทั้งสองแห่ง ส่วนการสอบยังคงจัดร่วมกันที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในระยะนี้มีนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 หมุนเวียนปฏิบัติงานในภาควิชาฯ ณ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจำนวนเท่าเดิม คือ 5 กลุ่ม กลุ่มละ 24-26 คน หมุนเวียนปฏิบัติงานเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และในระยะเวลาเดียวกันมีนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 กลุ่มละ 8, 11, 12, 13 คน ไปหมุนเวียนปฏิบัติงานที่ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานระหว่างปีการศึกษา 2557-2560 ตามลำดับ โดยในปีการศึกษาถัดมานิสิตแพทย์รุ่นเดียวกันจะเลื่อนชั้นเป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 และหมุนเวียนปฏิบัติงาน ณ ศูนย์การแพทย์ทั้งสองแห่งในลักษณะเดียวกัน นอกจากนั้นคณะแพทยศาสตร์ มศว ยังได้รับการอนุมัติให้ผลิตนิสิตแพทย์โครงการร่วมมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมเพิ่มขึ้นจากปีละ 10-12 คนเป็นปีละ 20 คนเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2559 ทำให้ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมาจะมีนิสิตแพทย์ในชั้นคลินิกปีละประมาณ 200 คน
  • ในปีการศึกษา 2558 ภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อยที่มีวัตถุประสงค์การเรียนรู้จำเพาะ สำหรับการฝึกทักษะและหัตถการสำคัญดังนี้
    • การทำ mini role-play หรือสถานการณ์จำลองสำหรับฝึกการให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์สำหรับการควบคุมโรคธาลัสซีเมียระดับรุนแรง และสำหรับฝึกการทำหัตถการสำหรับการฝึกเย็บแผลฝีเย็บหลังคลอดด้วย model ที่ทำจากฟองน้ำสำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5
    • การทำ mini role-play หรือสถานการณ์จำลองสำหรับฝึก communication skills และการฝึกสถานการณ์ฉุกเฉินจำลองเพื่อแก้ไขการคลอดไหล่ยาก (shoulder dystocia) และ malpresentation สำหรับนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติ
    • ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ครอบคลุมหัตถการพื้นฐานทางคลินิกทั้งหมดที่รับผิดชอบโดยภาควิชาฯ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนสำหรับฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติในหัวเรื่อง minor gynecologic operation สำหรับหัตถการพื้นฐานที่มีอัตราการทำน้อย ได้แก่ cervical biopsy, marsupialization of Bartholin’s cyst, polypectomy (cervical), removal of foreign body from vagina in adult และ vaginal packing
    • ยังคงจัดให้มีการเรียนการสอนสำหรับหัตถการทางคลินิกอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ basic obstetrics ultrasound และ uterine curettage สำหรับนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติตามความเห็นของบัณฑิตและผู้ใช้บัณฑิต รวมทั้งมีแผนปรับการเรียนการสอนสำหรับ basic obstetrics ultrasound ให้เป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ computer-aided instruction (CAI) เพื่อให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติศึกษาด้วยตนเองก่อนลงฝึกปฏิบัติ (hand on) ที่แผนกผู้ป่วยนอก
    • ยังคงจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่อง HA & DRG และ overview in family planning เพื่อให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่พบบ่อย ๆ ในแผนกสูตินรีเวช มีความเข้าใจการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (hospital accreditation) และการใช้กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (diagnostic related group) เป็นแนวทางการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยในประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานของแพทย์เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว
    • ปรับปรุงเพิ่มการเรียนการสอนเรื่อง gynecologic ultrasound สำหรับนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติตามความเห็นของบัณฑิตและผู้ใช้บัณฑิต
  • เมื่อมีจำนวนนิสิตแพทย์เพิ่มขึ้นภาควิชาฯ ได้ประสานงานเพื่อเพิ่มสถาบันสมทบให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติได้ฝึกทักษะ ทำหัตถการ และมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่หลากหลายมากขึ้น โดยส่งนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติไปหมุนเวียนปฏิบัติงานในสถาบันสมทบ ได้แก่ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน โรงพยาบาลลพบุรี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลสมุทรปราการเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2552, 2555, 2556 และ 2557 ตามลำดับ โดยภาควิชาฯ ไม่ได้ส่งนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติไปหมุนเวียนปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลตำรวจในฐานะสถาบันสมทบระหว่างปีการศึกษา 2557-2560
  • ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ภาควิชาฯ ได้ย้ายห้องธุรการ ห้องประชุม และห้องพักอาจารย์มาที่ ชั้น 8 ส่วนหน้าของอาคารคณะแพทยศาสตร์ที่อยู่ทางตะวันตกของอาคารศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีโดยใช้ห้องประชุมใหม่ชั้น 8 และห้องเรียน PBL ชั้น 3 อาคารคณะแพทยศาสตร์สำหรับจัดการเรียนการสอนก่อนปริญญาในส่วนที่ไม่ต้องใช้ผู้ป่วย และใช้ห้องภาควิชาฯ ห้องประชุม และห้องเรียนเดิมที่ชั้น 8 อาคารศูนย์การแพทย์ฯ สำหรับจัดการเรียนการสอนก่อนปริญญาในส่วนที่ต้องใช้ผู้ป่วย และการเรียนการสอนหลังปริญญา
  • การย้ายห้องภาควิชาฯ มาที่อาคารคณะแพทยศาสตร์ ทำให้ภาควิชาฯ มีพื้นที่เพิ่มขึ้นสามารถจัดศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ขนาดเล็กของภาควิชาฯ ให้ตอบสนองการเรียนการสอนทั้งระดับก่อนและหลังปริญญา โดยช่วงแรกจัดแบ่งพื้นที่สำหรับจัดวางหุ่นและอุปกรณ์สำหรับการตรวจภายในและทำ PAP smear และ normal delivery ไว้ที่หน้าห้องภาควิชาฯ ใหม่ นิสิตแพทย์สามารถฝึกทำหัตถการด้วยตนเองสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังจัดเตรียมอุปกรณ์และหุ่นสำหรับการเรียนการสอนกลุ่มย่อยไว้ในตู้เก็บของหน้าห้องภาควิชาฯ ทำให้สะดวกต่อการบริหารการเรียนการสอน เนื่องจากสามารถนำอุปกรณ์ไปเรียนแบบกลุ่มย่อยสำหรับฝึกทำหัตถการที่ห้องประชุมภาควิชาฯ ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน นับเป็นการพัฒนาระบบศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ของภาควิชาฯ อย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง
  • ในปีการศึกษา 2560 ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวจัดให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติไปเยี่ยมบ้าน สังเกตปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของศูนย์การแพทย์ฯ พร้อมนำเสนอปัญหาที่พบแก่ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและเข้าใจปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับชุมชนมากยิ่งขึ้น
  • ในปีการศึกษา 2560 เป็นปีแรกที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาและภาควิชาวิสัญญีวิทยาได้จัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 แบบบูรณาการร่วมกันในช่วงเวลา 9 สัปดาห์ วิธีนี้ทำให้นิสิตแพทย์มีโอกาสดูแลผู้ป่วย ฝึกทักษะและมีโอกาสทำหัตถการเพิ่มมากขึ้นทั้งสองภาควิชา นอกจากนั้นยังจัดการเรียนการสอนร่วมกันในหัวข้อเรื่อง patient safety เป็นการเรียนการสอนแบบ project base learning การเรียนการสอนนี้ช่วยบูรณาการระหว่างการนำความรู้ทางวิชาการ หลักฐานเชิงประจักษ์ มาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย การทำงานร่วมกันระหว่างวิชาชีพ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทำให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 มีโอกาสฝึกทำงานกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อมูล สืบค้นและวิเคราะห์ปัญหา ระดมความคิดเพื่อวางระบบและแนวทางในการป้องกัน แก้ปัญหาที่พบเห็นระหว่างการเรียนและปฏิบัติงาน รวมทั้งนำเสนอแนวคิดที่ได้มาต่อคณาจารย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อนนิสิตแพทย์ต่างกลุ่มพร้อมรับฟังความคิดเห็นในแง่มุมอื่น ๆ แล้วนำไปปรับปรุงแนวคิดให้มีความเหมาะสมมากขึ้นจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง
  • ในกลางปีการศึกษา 2560 ภาควิชาฯ ทดลองใช้ระบบแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒร่วมกับกูเกิล หรือ Google App for Education at SWU (SWU GAFE) โดยระบบนี้ใช้ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนแบบทำงานร่วมกันในรูปแบบคลาวด์ (cloud service) สำหรับการเรียนการสอนทั้งก่อนและหลังปริญญาพบว่าประสบผลเป็นอย่างดีจึงเริ่มใช้เต็มระบบในการปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา มีรายละเอียดดังนี้
    • ภาควิชาฯ ใช้ Google website เป็นระบบหลักในการเข้าถึงสื่อการสอนอิเลคทรอนิคทั้งหมดของภาควิชาฯ ได้แก่ เอกสารประกอบการสอน, hand out, แบบประเมิน, แผนการสอน, สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และสื่อวิดิทัศน์สำหรับศึกษาด้วยตนเอง เป็นต้น ระบบข้างต้นกำหนดให้ผู้ที่เข้าถึงต้องมี SWU GAFE email เท่านั้นเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิและความลับของผู้ป่วย ทำให้ผู้เรียนได้รับเอกสารประกอบการสอนที่ได้รับการปรับปรุงล่าสุดจาก cloud service ของผู้สอนโดยตรงทั้งของอาจารย์ที่ภาควิชาฯ และอาจารย์ที่ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ระบบข้างต้นสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ของบัณฑิตเพราะสามารถเข้าถึงเอกสารอิเลคทรอนิคและสื่อการสอนใหม่ ๆ ของภาควิชาโดยใช้ SWU GAFE email ได้ตลอดเวลา
    • ภาควิชาฯ ใช้ Google website เป็นแหล่งรวบรวมประชาสัมพันธ์ผลงานของภาควิชาฯ ทั้งงานวิจัย สถิติ บริการวิชาการ การจัดการความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
    • ภาควิชาฯ ใช้ Google calendar เป็นตารางแสดงกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งระดับก่อนและหลังปริญญา รวมทั้งกิจกรรมสำคัญของภาควิชาฯ และคณะแพทยศาสตร์ ช่วยให้คณาจารย์ นิสิตแพทย์ แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด และบุคลากรทราบตารางการเรียนการสอน ตารางการใช้ห้องเรียน กิจกรรมสำคัญ และสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยสะดวกจาก mobile devices และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ในปีการศึกษา 2560 ภาควิชาฯ เริ่มผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ computer-aided instruction (CAI) ในหัวข้อ basic obstetrics ultrasound โดยใช้ Google website เป็นระบบหลัก โดยระบุคำแนะนำการใช้ แผนการสอน เกณฑ์แพทยสภาที่เกี่ยวข้อง และสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ Google applications อื่น ๆ คือ
    • YouTube Playlist ที่ประกอบด้วยวิดิทัศน์การเรียนการสอนหลักโดยแบ่งสื่อวิดิทัศน์ออกเป็นหลายตอนคล้ายกับการแบ่งบทหนังสือ ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาทั้งหมดในคราวเดียวกันหรือเลือกศึกษาเฉพาะบางตอนได้อย่างสะดวก
    • Google form และ Google spreadsheet สำหรับทำ posttest evaluation เพื่อประเมินความรู้และการเข้าใช้ระบบของผู้เรียน

ภาควิชาฯ ทดลองใช้ให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติเรียนรู้แบบ self-directed learning ก่อนมาอภิปรายกันในห้องเรียน อาจารย์ผู้สอนใช้โอกาสนี้สอบถามความเห็นเป็นแนวทางปรับปรุงบทเรียนข้างต้นให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

  • ในปีการศึกษา 2561 ภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงเอกสารประเมินที่มีรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติสำหรับการทำหัตถการ normal delivery สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 เป็นต้นไป ให้มีความละเอียดตามขั้นตอนจริง มีการแยกขั้นตอนการทำหัตถการที่มีความสำคัญออกมาเป็น critical points เนื่องจากการละเว้นการทำขั้นตอนเหล่านั้น หรือทำไม่ถูกต้องอาจส่งผลเสีย หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับผู้ป่วยได้ ในเอกสารยังมีคำอธิบายให้เห็นความสำคัญของ critical points ในแต่ละข้อ เป็นการสอดแทรกเนื้อหาในเรื่อง patient safety, infectious control และสิทธิผู้ป่วยเข้าไปในระบบการเรียนการสอน เกณฑ์ผ่านของการประเมินประกอบด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนที่เป็น critical points รวมกับคะแนนรวมจากขั้นตอนอื่น ๆ ที่ไม่น้อยกว่า minimal passing level การปรับปรุงข้างต้นทำให้นิสิตแพทย์เข้าใจความสำคัญและสามารถทำหัตถการได้ถูกต้องมากขึ้น
  • ในปีการศึกษา 2561 แผนกสูตินรีเวชกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานเริ่มดูแลการเรียนการสอนนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติเองทั้งหมดในฐานะสถาบันหลักเป็นครั้งแรกโดยมีนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติไปหมุนเวียนปฏิบัติงานเดือนละ 5 คน และมีนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติหมุนเวียนปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เดือนละ 10-12 คน และส่งไปหมุนเวียนปฏิบัติงานที่สถาบันสมทบอีก 1 เดือนประกอบด้วย โรงพยาบาลลพบุรี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลปทุมธานี กล่าวโดยสรุปในปีการศึกษา 2561 ภาควิชาฯ ได้ส่งนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติไปหมุนเวียนปฏิบัติงานในสถาบันสมทบเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ประกอบด้วยสถาบันสมทบใหม่ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลปทุมธานี และสถาบันสมทบเดิมอีก 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลตำรวจ
  • ในปีการศึกษา 2562 ภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงเอกสารประเมินที่มีรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติสำหรับการตรวจภายในและทำ PAP smear สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 เป็นต้นไปให้มีรายละเอียดขั้นตอนเหมือนจริง มี critical points และมีการประเมินการทำหัตถการในลักษณะเดียวกับการประเมินการทำหัตถการ normal delivery สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 โดยในปีการศึกษานี้ได้เริ่มทดลองจัดการเรียนการสอนหัตถการ episiorrhaphy โดยให้นิสิตแพทย์ฝึกเย็บปากช่องคลอดสุกรเป็นครั้งแรก การใช้ส่วนของสัตว์ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่คล้ายสถานการณ์จริงมากกว่า ทางภาควิชาฯ จึงมีแผนที่จะจัดให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ได้เรียนด้วยวิธีนี้ทุกกลุ่มในปีการศึกษาต่อไป
  • ปีการศึกษา 2562 ภาควิชาฯ ได้ประสานงานและเพิ่มการส่งนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติไปหมุนเวียนปฏิบัติงานในสถาบันสมทบเพิ่มเติมอีก 1 แห่งคือโรงพยาบาลอ่างทอง