การเรียนการสอนหลังปริญญาของภาควิชาฯ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ จนในปี พ.ศ. 2552 ภาควิชาฯ ผ่านการรับรองเป็นสถาบันหลักในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาปีละ 2 อัตรา (หลักสูตรแพทย์ใช้ทุน 42 เดือนและหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน) โดยในระยะแรกมีการฝึกอบรมร่วมกับสถาบันสมทบคือ โรงพยาบาลภูมิพล มีแพทย์ใช้ทุนหลักสูตร 42 เดือนคนแรกคือ นพ.พริษฐ์ วาจาสิทธิศิลป์ เริ่มเข้ารับการอบรมในปีการศึกษา 2553 จบการฝึกอบรมและได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาในปี พ.ศ. 2556 หลังจากนั้นเป็นต้นมาทางภาควิชาฯ ได้มีการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาอย่างต่อเนื่องปีละ 1-2 คนตามกรอบอัตราที่ได้รับการอนุมัติจากแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
การเรียนการสอนระดับแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาฯ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับเกณฑ์ของแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย การประเมินคุณภาพการศึกษา ความต้องการของบัณฑิต ผู้ใช้บัณฑิต และนโยบายของรัฐบาล ดังสรุปเป็นเหตุการณ์สำคัญ ได้ดังนี้
- ในปี พ.ศ. 2556 ทางภาควิชาฯ ได้รับการตรวจประเมินและอนุมัติให้เพิ่มกรอบอัตราการฝึกอบรมจากแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นปีละ 3 อัตรา โดยภาควิชาฯ เริ่มให้การฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาปีละ 3 อัตราในปีการศึกษา 2557
- ในเดือนมีนาคม 2556 ทางภาควิชาฯ เริ่มใช้ระบบฝากครรภ์อิเลคโทรนิค หรือ electronic medical record for antenatal care (EMR-ANC) และเริ่มใช้ระบบใบย่อคลอดอิเลคโทรนิค หรือ electronic medical record for labor room (EMR-LR) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ระบบนี้อาจารย์ในภาควิชาฯ พัฒนาร่วมกับบริษัท EMR นับเป็นการใช้งานระบบเวชระเบียนอิเลคทรอนิคอย่างเป็นระบบให้มีประโยชน์สูงสุดเป็นภาควิชาแรก ระบบนี้สนับสนุนการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และส่งเสริมงานวิจัยของภาควิชาฯ โดยช่วยบริหารการฝากครรภ์ให้ครบตามวัตถุประสงค์หลักคือ
- การคำนวณและแก้ไขอายุครรภ์ให้ถูกต้อง
- ระบบเพิ่มความสะดวกในการดูผลการตรวจเลือดของทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามีโดยผูกเวชระเบียนอิเลคโทรนิคของทั้งสองคนด้วย ANC number ทำให้ระบบสามารถดึงผลการตรวจคัดกรองของทั้งสองคนมาแสดงอยู่บนหน้าจอเดียวกัน ระบบดังกล่าวช่วยสนับสนุนการตรวจคัดกรองและควบคุมโรคพันธุกรรมที่สำคัญ
- เป็นระบบการประเมินความเสี่ยง และบันทึกแผนการดูแลรักษาให้สามารถเชื่อมโยงการดูแลรักษาทั้งในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอดได้อย่างเหมาะสม
ระบบสนับสนุนการเรียนการสอนระดับหลังปริญญาโดยให้แพทย์ประจำบ้านมีรหัสส่วนตัวที่สามารถเข้าถึงระบบได้ สามารถอนุมัติข้อมูลที่นิสิตแพทย์ใส่ข้อมูลการฝากครรภ์และคลอดเข้าไปในระบบก่อนหลังจากตรวจสอบความถูกของข้อมูลให้เข้าไปเก็บในระบบ EMR-ANC และ EMR-LR ระบบข้างต้นได้รับการตอบรับที่ดีเพราะใช้งานง่าย ไม่ซ้ำซ้อน ตรวจสอบได้ง่าย นอกจากนั้นยังส่งเสริมการเรียนรู้ และการทำวิจัยได้เป็นอย่างดี
- ในปีการศึกษา 2556 ภาควิชาฯ เริ่มพัฒนาระบบตรวจสอบความสมบูรณ์ของเวชระเบียน เริ่มต้นโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบบรรยายความสำคัญและแนวทางในการทำให้เวชระเบียนมีคุณภาพคือ รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ และ พอ.นพ.กนธีร์ สังขวาสี หลังจากนั้นจึงได้วางแผนร่วมมือกันในภาควิชาฯ โดยมีอาจารย์ในภาควิชาฯ หลายท่านร่วมตรวจสอบความสมบูรณ์ของเวชระเบียนผู้ป่วยในทุกฉบับ ทำให้เวชระเบียนของภาควิชาฯ มีความครบถ้วนทุกส่วนและมีเนื้อหาสมบูรณ์ แพทย์ประจำบ้านและนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติทุกคนผ่านการสอนและอบรมให้เข้าใจความสำคัญและวิธีทำเวชระเบียนในมีความสมบูรณ์ โดยเรียนรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง
- ในปีการศึกษา 2557 ภาควิชาฯ ได้ประสานกับภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว เพื่อให้ร่วมสอนในส่วนที่แพทย์ประจำบ้านต้องหมุนเวียนไปปฏิบัติงานด้านพยาธิวิทยาเป็นเวลา 1 เดือนในชั้นปีที่ 2 แทนการส่งไปปฏิบัติงานที่สถาบันพยาธิวิทยา
- จากปริมาณผู้ป่วยของศูนย์การแพทย์ฯ ที่ภาควิชาฯ ดูแลมีมากขึ้นโดยลำดับรวมกับอาจารย์แพทย์ที่มีมากขึ้น ทำให้ทางภาควิชาฯ ตัดสินใจอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาโดยไม่ส่งแพทย์ประจำบ้านรุ่นใหม่ไปฝึกอบรมที่สถาบันสมทบคือ โรงพยาบาลภูมิพลตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป โดยยังคงความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนและการสอบภายในสถาบันร่วมกัน โดยในช่วงแรกจัดสอบ MCQ, MEQ, Essay และ OSCE ปีละ 1 ครั้ง
- ในปีการศึกษา 2558 ภาควิชาฯ ปรับมาระบบสายในการบริการวิชาการและการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 สาย คือสาย A และสาย B ระบบสายช่วยกำหนดหน้าที่งานของแพทย์ประจำบ้านให้มีความชัดเจน นอกจากนั้นยังการปรับปรุงสำคัญดังนี้
- เริ่มให้มีวัน academic day ในวันศุกร์ เพื่อมุ่งเน้นการเรียนการสอนทั้งระดับก่อนปริญญา ระดับหลังปริญญา รวมทั้งผู้รับบริการ โดยในระยะแรกแผนกผู้ป่วยนอกสูติกรรมได้นัดคนไข้มาให้สุขศึกษาโดยเจ้าหน้าที่พยาบาล โภชนาการ และเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น โดยแพทย์ประจำบ้านมาช่วยสอนเรื่องการทำ Down syndrome screening หลังจากเข้าประชุมวิชาการภายในสถาบันในช่วงเช้า
- ภาควิชาฯ จัดให้แพทย์ประจำบ้านมาปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในปีที่ 1 หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวชและหน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ในปีที่ 2 หน่วยละ 1 เดือน
- จัดให้มีการจัดประชุมวิชาการภายในสถาบันที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับเรื่องเวชจริยศาสตร์ (Ethic conference) อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
- ในปีการศึกษา 2559 ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเข้ามาร่วมจัดการสอบภายในสถาบันร่วมกันเป็นการสอบร่วมสามสถาบัน โดยจัดสอบทั้ง MCQ, MEQ และ Essay ปีละ 2 ครั้ง และ Basic science และ OSCE ปีละ 1 ครั้ง
- ในปี พ.ศ. 2560 ทางภาควิชาฯ ได้รับการประเมินและอนุมัติให้เพิ่มกรอบอัตราการฝึกอบรมจากแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นปีละ 4 คน โดยภาควิชาฯ เริ่มให้การฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาปีละ 4 คนในปีการศึกษา 2560
- ในปีการศึกษา 2560 ภาควิชาฯ ได้ปรับการเรียนการสอนมีรายละเอียดดังนี้
- การหมุนเวียนไปปฏิบัติงานด้านพยาธิวิทยา ณ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว มาอยู่ในแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 เป็นเวลา 1 เดือน
- เริ่มส่งแพทย์ประจำบ้านไปยังสถาบันสมทบเพื่อให้มีประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หลากหลายในชั้นปีที่ 1 และ 3 ชั้นปีละ 1 เดือนที่โรงพยาบาลสมุทรปราการและโรงพยาบาลร้อยเอ็ดตามลำดับ
- จัดตารางให้แพทย์ประจำบ้านคุมสอบลงกอง OSCE นสพ ปีละ 1-2 ครั้ง ดูปัญหาการสอน
- กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เข้ามาร่วมจัดการสอบภายในสถาบันร่วมกันเป็นการสอบร่วมสี่สถาบัน โดยจัดสอบทั้ง MCQ, MEQ และ Essay ปีละ 2 ครั้ง และ Basic science และ OSCE ปีละ 1 ครั้ง
- ในปี พ.ศ.2560 ภาควิชาได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Center of Excellence in Maternal Fetal Medicine) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการมีบุตรยาก (Center of Excellence in Infertility) ตามนโยบายของคณะแพทยศาสตร์และศูนย์การแพทย์ฯ ทั้งสองศูนย์มีงานทั้งด้านการบริการวิชาการ ส่งเสริมการเรียนการสอนทั้งรับก่อนและหลังปริญญา รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยของภาควิชาเป็นอย่างดี
- ในกลางปีการศึกษา 2560 ภาควิชาฯ ทดลองใช้ระบบแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒร่วมกับกูเกิล หรือ Google App for Education at SWU (SWU GAFE) โดยระบบนี้ใช้ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนแบบทำงานร่วมกันในรูปแบบคลาวด์ (cloud service) สำหรับการเรียนการสอนทั้งก่อนและหลังปริญญาพบว่าประสบผลเป็นอย่างดีจึงเริ่มใช้เต็มระบบในการปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา มีรายละเอียดดังนี้
- ภาควิชาฯ ใช้ Google website เป็นระบบหลักในการเข้าถึงสื่อการสอนอิเลคทรอนิคทั้งหมดของภาควิชาฯ ได้แก่ เอกสารประกอบการสอน, hand out, แบบประเมิน, แผนการสอน, สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และสื่อวิดิทัศน์สำหรับศึกษาด้วยตนเอง เป็นต้น ระบบข้างต้นกำหนดให้ผู้ที่เข้าถึงต้องมี SWU GAFE email เท่านั้นเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิและความลับของผู้ป่วย สำหรับการเรียนการสอนหลังปริญญาที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมวิชาการภายใน การเข้าถึงสื่อทั้งหมดที่จัดเก็บไว้ใน cloud service อย่างเป็นระบบช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี ระบบข้างต้นสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ของบัณฑิตเพราะสามารถเข้าถึงเอกสารอิเลคทรอนิคและสื่อการสอนใหม่ ๆ ของภาควิชาโดยใช้ SWU GAFE email ได้ตลอดเวลา
- ภาควิชาฯ ใช้ Google website เป็นแหล่งรวบรวมประชาสัมพันธ์ผลงานของภาควิชาฯ ทั้งงานวิจัย สถิติ บริการวิชาการ การจัดการความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
- ภาควิชาฯ ใช้ Google calendar เป็นตารางแสดงกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งระดับก่อนและหลังปริญญา รวมทั้งกิจกรรมสำคัญของภาควิชาฯ และคณะแพทยศาสตร์ ช่วยให้คณาจารย์ นิสิตแพทย์ แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด และบุคลากรทราบตารางการเรียนการสอน ตารางการใช้ห้องเรียน กิจกรรมสำคัญ และสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยสะดวกจาก mobile devices และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ในปีการศึกษา 2561 ภาควิชาฯ เริ่มใช้ Google website ร่วมกับ cloud service เป็นแหล่งในการเก็บและเข้าถึงเอกสารสำคัญของการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้าน ได้แก่ หลักสูตร ตารางกิจกรรมวิชาการประจำปี คู่มือแพทย์ประจำบ้าน กรอบเวลาและแนวทางการทำวิจัยของแพทย์ประจำบ้าน แบบฟอร์มการประเมินสมรรถนะของสูตินรีแพทย์แบบฟอร์มประเมินแพทย์ประจำบ้าน แบบฟอร์มให้ข้อมูลป้อนกลับ แนวทางการขออุทธรณ์ผลการสอบและประเมินการปฏิบัติงาน ประกาศเสรีภาพทางวิชาการ และ เอกสารสำแดงการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น นอกจากนั้นยังพัฒนาระบบ E-port folio โดยใช้ Google website สำหรับแพทย์ประจำบ้านแต่ละคนให้เก็บข้อมูลส่วนตัว เอกสารการประเมินสมรรถนะ รายละเอียดการทำงานวิจัย การเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการทั้งภายในและภายนอก กำหนดให้แพทย์ประจำบ้านแต่ละคนสามารถเข้าถึงระบบ E-port folio เฉพาะของตนเอง โดยอาจารย์ในภาควิชาสามารถเข้าถึงเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของแพทย์ประจำบ้านแต่ละคนได้
- ในปี พ.ศ. 2562 ภาควิชาฯ รับการตรวจประเมินสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านตามกรอบมาตรฐาน WFME โดยคณะอนุกรรมการผู้ตรวจประเมินสถาบันฯ ของแพทยสภา พร้อมกับการขอเพิ่มกรอบอัตราการฝึกอบรม ภาควิชาฯ ได้รับการอนุมัติให้ผ่านการประเมินและสามารถเพิ่มกรอบอัตราการฝึกอบรมเป็นปีละ ละ 5 อัตรา สามารถรับแพทย์ประจำบ้านเพิ่มเป็นปีละ 5 อัตราตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป โดยภาควิชาฯ มีนโยบายที่จะรับแพทย์ที่มีต้นสังกัดมาฝึกอบรมเพิ่มเติมเป็นแพทย์ประจำบ้านร่วมกับแพทย์ปฏิบัติงานเพื่อการสอบวุฒิบัตรที่มีอยู่เดิม
- ในปีการศึกษา 2562 ภาควิชาฯ เริ่มจัดการเรียนการสอนหัตถการ episiorrhaphy โดยให้นิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้านฝึกเย็บปากช่องคลอดสุกรเป็นครั้งแรก สำหรับแพทย์ประจำบ้านเน้นไปที่การเย็บซ่อมแซม 3rd – 4th degree tear และช่วยสอนนิสิตแพทย์ฝึกเย็บแผลไปในคราวเดียวกัน การใช้ส่วนของสัตว์ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่คล้ายสถานการณ์จริงมากกว่า ทางภาควิชาฯ จึงมีแผนที่จะจัดให้แพทย์ประจำบ้านอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยอาจจัดไปพร้อมกับการเรียนการสอนสำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ที่จะเรียนด้วยวิธีนี้ทุกกลุ่มในปีการศึกษาต่อไป
- ในปีการศึกษา 2562 กองสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎและโรงพยาบาลตำรวจเข้ามาร่วมจัดการสอบภายในสถาบันร่วมกันเป็นการสอบร่วมหกสถาบัน โดยจัดสอบทั้ง MCQ, MEQ และ Essay ปีละ 2 ครั้ง และ Basic science และ OSCE ปีละ 1 ครั้ง