ในปี พ.ศ. 2561 ภาควิชาฯ และฝ่ายการพยาบาล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตร “พยาบาลเฉพาะทางด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” หลักสูตร 4 เดือนซึ่งหลักสูตรนี้ได้ผ่านการรับรองจากสภาพยาบาล และได้รับการอนุมัติให้ทำการเปิดการเรียนการสอนจากทางมหาวิทยาลัย โดยจะทำการเปิดรับนิสิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2563

          ในปีการศึกษา 2561 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรียนครินทรวิโรฒ ได้เริ่มกระบวนการทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) หรือ MOU เพื่อการร่วมมือในด้านการเรียนการสอน วิจัย และการบริการวิชาการ โดยในระยะแรกโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญอาจารย์ในภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว มาร่วมสอนรายวิชาการอัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์ ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสัทภาพทางการแพทย์ (อัลตราซาวด์ทางการแพทย์) ในปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรก โดยเรียนรายวิชานี้และฝึกงานที่ศูนย์การแพทย์ฯ โดยมีนักศึกษาในปีแรกทั้งหมด 3 คนคือ นางสุรภา​ ไหรัญพิจิตร​, นางสาวพันธจารีย์​ หิรัญรัตน์ และ นางสาวพณิตาภรณ์​ ศรีพารัตน์ โดยในปีการศึกษา 2562 ภาควิชาฯ ได้ร่วมสอนหัวข้อ embryology ในรายวิชา การเจริญเติบโตในระยะเอ็มบริโอในครรภ์ กายวิภาคศาสตร์ และพยาธิวิทยา เพิ่มอีกรายวิชาหนึ่งเพื่อให้เนื้อหามีความสอดคล้องกับรายวิชาเดิมที่รับผิดชอบอยู่

         ในวันที่ 13-14 กันยายน 2561 ภาควิชาฯ ร่วมกับ โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง อัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สำหรับแพทย์ นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ณ ห้องประชุมโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีมีผู้เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย เป็นทั้งการสอนและการบริการวิชาการที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ตอบโจทย์ความขาดแคลนด้านบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับอัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ของประเทศไทย และมีส่วนเสริมการเรียนการสอนระดับแพทยศาตรบัณฑิต แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของภาควิชาฯ อย่างชัดเจน ดังนั้นภาควิชาฯ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์จึงมีแผนที่จะจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง