ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว
ในปี พ.ศ. 2528 หลังการดำเนินการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์และมีภาควิชาฯ เดิมภาควิชาฯ ได้ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในทางสูตินรีเวชกรรมร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ต่อมาในปลายปี 2542 ได้มีการจัดกีฬามหาวิทยาลัย ได้มีกลุ่มแพทย์ที่อาสามาจัดการให้บริการทางการแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในระยะแรก การให้บริการทางการแพทย์จัดให้มีเฉพาะการบริการผู้ป่วยนอก (ณ บริเวณที่เป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอกศัลยกรรมในปัจจุบัน) การให้บริการตรวจรักษาเฉพาะทางจะเป็นไปตามความชำนาญของอาจารย์แพทย์ที่ออกตรวจ ซึ่งการให้บริการตรวจเฉพาะทางของผู้ป่วยนอกทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้มีการจัดให้บริการทุกวัน จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 ได้มีการให้บริการการรักษาผู้ป่วยในที่หอผู้ป่วยชั้น 8 มีการผ่าตัดคลอดโดยใข้ห้องผ่าตัดเล็กที่ห้องฉุกเฉินเป็นห้องผ่าตัดที่ใช้ผ่าตัดผู้ป่วยคลอดในรายแรก
ต่อมาเมื่อมีผู้ป่วยมารับการรักษาพยาบาลมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2545 ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาจึงได้เปิดให้บริการดูแลการฝากครรภ์ ตรวจผู้ป่วยทางสูตินรีเวชวิทยา และให้บริการการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกเฉพาะทางทางสูตินรีเวชกรรมที่ชั้นสอง สำหรับห้องผ่าตัดในขณะนั้นใช้ห้องผ่าตัดชั้นสามเป็นห้องผ่าตัดรวมของแพทย์ทุกแผนก หอผู้ป่วยในได้เปิดให้บริการในชั้น 8 ชั้น 9 และชั้น 10
ในปี พ.ศ. 2546 ภาควิชาฯ ได้มีนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ให้มีการใช้งานอย่างคุ้มค่าและสนับสนุนให้เกิดการธำรงรักษาบุคลากรโดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์แพทย์ จึงได้มีการเปิดให้บริการคลินิกนอกเวลาราชการในช่วงเวลา 16.00-20.00 น. ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งในระยะแรกในแต่ละวัน จะมีอาจารย์แพทย์ที่ออกตรวจคลินิกนอกเวลาวันละ 1 ท่าน ร่วมกับ พยาบาล 1 ท่าน และผู้ช่วยพยาบาลอีก 1 ท่าน
ในปี พ.ศ. 2547 ได้เปิดให้บริการตรวจผู้ป่วยวัยทอง ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช โดยยังใช้ห้องตรวจผู้ป่วยนอกทางสูตินรีเวชกรรมเป็นสถานที่ให้บริการเช่นเดิม และยังได้มีการเปิดให้บริการคลินิกนมแม่ที่หอผู้ป่วยในชั้นแปด โดยตั้งชื่อคลินิกนมแม่ในขณะนั้นว่า “ห้องอุ่นไอรัก” โดยในระยะแรกให้บริการเน้นให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่ผู้รับบริการที่มาคลอดที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อสนับสนุนให้บุคลากรภายในคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลได้เป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ยังมีการให้บริการสายด่วนนมแม่ที่ให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวที่มีปัญหาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการเริ่มการจัดบริการวิชาการแก่สังคม ในเรื่องสุขภาพสตรี อนามัยแม่และเด็ก และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะยึดช่วงเวลาของวันแม่แห่งชาติ และสัปดาห์นมแม่โลก (สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม) เป็นช่วงเวลาที่จัดงาน โดยมีการเชิญหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน บุคลากรทางสาธารณสุข และประชาชนที่สนใจมาร่วมงาน มีการจัดนิทรรศการ บรรยายวิชาการ และนำเสนองานวิจัยในรูปโปสเตอร์ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เกิดการจัดบริการวิชาการแก่สังคมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการเปิดบริการศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีการให้บริการการเก็บและฉีดน้ำเชื้อ แช่แข็งไข่และตัวอ่อน การทำ GIFT และการทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วยที่มีบุตรยากในพื้นที่เขตนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว โดยจะช่วยลดลำบากในการต้องเดินทางไกลและความแออัดในการเข้าไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลังเปิดให้บริการในปีเดียวกันก็มีมารดาที่ประสบความสำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้ว
ในปี พ.ศ. 2555 การพัฒนางานบริการของภาควิชาฯ ช่วยให้ศูนย์การแพทย์ฯ ผ่านการรับรองให้เป็นโรงพยาบาลสายใยรักครอบครัวระดับทอง และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน ฯ ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะโรงพยาบาลที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้เกิดการขอมาดูงานบริการคลินิกนมแม่จากหน่วยงานอื่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2556 หลังจากรัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานสถานพยาบาลที่จัดให้บริการทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ได้มีคณะกรรมการมาตรวจประเมินการให้บริการศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการยอมรับมาตรฐานของการให้บริการในด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของภาควิชา
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ทางภาควิชาฯ เริ่มใช้ระบบฝากครรภ์อิเลคโทรนิค หรือ electronic medical record for antenatal care (EMR-ANC) และเริ่มใช้ระบบใบย่อคลอด อิเลคโทรนิค หรือ electronic medical record for labor room (EMR-LR) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ระบบนี้อาจารย์ในภาควิชาฯ พัฒนาร่วมกับบริษัท EMR นับเป็นการใช้งานระบบเวชระเบียนอิเลคทรอนิคอย่างเป็นระบบให้มีประโยชน์สูงสุดเป็นภาควิชาแรก ระบบนี้สนับสนุนการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และส่งเสริมงานวิจัยของภาควิชาฯ โดยช่วยบริหารการฝากครรภ์ให้ครบตามวัตถุประสงค์หลักคือ
- การคำนวณและแก้ไขอายุครรภ์ให้ถูกต้อง
- ระบบเพิ่มความสะดวกในการดูผลการตรวจเลือดของทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามีโดยผูกเวชระเบียนอิเลคโทรนิคของทั้งสองคนด้วย ANC number ทำให้ระบบสามารถดึงผลการตรวจคัดกรองของทั้งสองคนมาแสดงอยู่บนหน้าจอเดียวกัน ระบบดังกล่าวช่วยสนับสนุนการตรวจคัดกรองและควบคุมโรคพันธุกรรมที่สำคัญ
- เป็นระบบการประเมินความเสี่ยง และบันทึกแผนการดูแลรักษาให้สามารถเชื่อมโยงการดูแลรักษาทั้งในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอดได้อย่างเหมาะสม
ระบบสนับสนุนการเรียนการสอนระดับก่อน และหลังปริญญา โดยให้นิสิตแพทย์มีรหัสส่วนตัวที่สามารถเข้าถึงระบบได้บางส่วน หรือเรียกว่า partial license นิสิตแพทย์จึงมีบทบาทคล้ายแพทย์คือสามารถใส่ข้อมูลการฝากครรภ์ การคลอด และแผนการดูแลรักษาเข้าไปในระบบก่อนที่จะให้อาจารย์หรือแพทย์ผู้สอนตรวจสอบความถูกต้องก่อนอนุมัติข้อมูลให้เข้าไปเก็บในระบบ EMR-ANC และ EMR-LR ระบบข้างต้นได้รับการตอบรับที่ดีโดยนิสิตแพทย์เพราะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังส่งเสริมการเรียนรู้ และการทำวิจัยได้เป็นอย่างดี
ในปี พ.ศ. 2556 ภาควิชาฯ เริ่มพัฒนาระบบตรวจสอบความสมบูรณ์ของเวชระเบียน เริ่มต้นโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบบรรยายความสำคัญและแนวทางในการทำให้เวชระเบียนมีคุณภาพคือ รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ และ พอ.นพ.กนธีร์ สังขวาสี หลังจากนั้นจึงได้วางแผนร่วมมือกันในภาควิชาฯ โดยมีอาจารย์ในภาควิชาฯ หลายท่านร่วมตรวจสอบความสมบูรณ์ของเวชระเบียนผู้ป่วยในทุกฉบับ ทำให้เวชระเบียนของภาควิชาฯ มีความครบถ้วนทุกส่วนและมีเนื้อหาสมบูรณ์ แพทย์ประจำบ้านและนิสิตแพทย์เวชปฏิบัติทุกคนผ่านการสอนและอบรมให้เข้าใจความสำคัญและวิธีทำเวชระเบียนในมีความสมบูรณ์ โดยเรียนรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง
ในปี พ.ศ.2557 ทางภาควิชาฯ และฝ่ายการพยาบาลสูตินรีเวช ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้ร่วมกันจัดโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนชื่อ “โครงการสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร จนถึงระยะวัยทอง” โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างสุขภาพสตรีในเขต ต.บึงศาล ต.ชุมพล และหมู่ 6, 7 ต.องครักษ์ จ.นครนายก รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในจังหวัดนครนายก โครงการนี้ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ การจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ดูแลนมแม่ 20 ชั่วโมงตามเกณฑ์โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก และการอบรมส่งเสริมสุขภาพสตรีเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง ร่วมกับการเป็นการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการส่งเสริมสุขภาพสตรี
ในปี พ.ศ. 2558 ภาควิชาฯ ปรับมาระบบสายในการบริการวิชาการและการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 สาย คือสาย A และสาย B ระบบสายช่วยกำหนดหน้าที่งานของแพทย์ประจำบ้านให้มีความชัดเจน มีการสอดแทรกการเรียนการสอนเข้าไปในการบริการวิชาการได้แก่ การจัดให้มีวัน academic day ในวันศุกร์ โดยแพทย์ประจำบ้านมาช่วยสอนสุขศึกษาเรื่องการทำ Down syndrome screening หลังจากเข้าประชุมวิชาการภายในสถาบันในช่วงเช้า
ในปี พ.ศ. 2560 ภาควิชาฯ ได้ปรับรูปแบบงานวันแม่และงานส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีรูปแบบที่เน้นการประชุมวิชาการครั้งแรกของภาควิชา ได้มีการระดมให้อาจารย์ในภาควิชาเขียนบทความทางวิชาการในหนังสือที่ประกอบการประชุมวิชาการชื่อ OB-GYN 4.0 ซึ่งมีอาจารย์และพยาบาลที่ร่วมเขียนทั้งหมด 9 ท่าน มีบทความวิชาการทั้งหมด 12 เรื่อง โดยหนังสือได้มีการตีพิมพ์จำนวนทั้งสิ้น 200 เล่ม และในปีเดียวกันได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งรองรับการส่งต่อจากโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงในกรณีที่มารดาต้องการการวินิจฉัยความผิดปกติของการตั้งครรภ์ หรือความผิดปกติของทารกในครรภ์ ตัวอย่างเช่น ทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด และกรณีที่ทารกต้องการการตรวจวินิจฉัยเฉพาะ เช่น การเจาะน้ำคร่ำ การเจาะตรวจเนื้อรก และการเจาะเลือดจากสายสะดือของทารกในครรภ์เพื่อการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของพันธุกรรมของทารก
ในปี พ.ศ. 2560 ภาควิชาได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Center of Excellence in Maternal Fetal Medicine) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการมีบุตรยาก (Center of Excellence in Infertility) ตามนโยบายของคณะแพทยศาสตร์และศูนย์การแพทย์ฯ ทั้งสองศูนย์มีงานทั้งด้านการบริการวิชาการ ส่งเสริมการเรียนการสอนทั้งรับก่อนและหลังปริญญา รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยของภาควิชาเป็นอย่างดี
ในแวันที่ 13-14 กันยายน 2561 ภาควิชาฯ ร่วมกับ โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง อัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สำหรับแพทย์ นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ณ ห้องประชุมโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีมีผู้เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย เป็นทั้งการสอนและการบริการวิชาการที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ตอบโจทย์ความขาดแคลนด้านบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับอัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ของประเทศไทย และมีส่วนเสริมการเรียนการสอนระดับแพทยศาตรบัณฑิต แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของภาควิชาฯ อย่างชัดเจน ดังนั้นภาควิชาฯ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์จึงมีแผนที่จะจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง