ประวัติการเรียนการสอนหลังปริญญา
การเรียนการสอนหลังปริญญาของภาควิชาฯ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ จนในปี พ.ศ.2552 ภาควิชาฯ ผ่านการรับรองเป็นสถาบันหลักในการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาปีละ 2 คน (หลักสูตรแพทย์ใช้ทุน42 เดือนและหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน) โดยในระยะแรกมีการฝึกอบรมร่วมกับสถาบันสมทบคือ โรงพยาบาลภูมิพล มีแพทย์ใช้ทุนหลักสูตร 42 เดือนคนแรกคือ นพ.พริษฐ์ วาจาสิทธิศิลป์ เริ่มเข้ารับการอบรมในปีการศึกษา 2553 จบการฝึกอบรมและได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาในปี พ.ศ.2556 หลังจากนั้นเป็นต้นมาทางภาควิชาฯ ได้มีการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาอย่างต่อเนื่องปีละ 1-2 คนตามกรอบอัตราที่ได้รับการอนุมัติจากแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.2556 และ 2560 ทางภาควิชาฯ ได้รับการประเมินและอนุมัติให้เพิ่มกรอบอัตราการฝึกอบรมเป็นปีละ 3 และ 4 คนตามลำดับ โดยภาควิชาฯ เริ่มให้การฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาปีละ 3 และ 4 คนในปีการศึกษา 2557 และ 2560 ตามลำดับ
จากปริมาณผู้ป่วยของศูนย์การแพทย์ฯ ที่ภาควิชาฯ ดูแลมีมากขึ้นโดยลำดับรวมกับอาจารย์แพทย์ที่มีมากขึ้น ทำให้ทางภาควิชาฯ ตัดสินใจอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาโดยไม่ส่งแพทย์ประจำบ้านรุ่นใหม่ไปฝึกอบรมที่สถาบันสมทบคือ โรงพยาบาลภูมิพลตั้งแต่ปีการศึกษา2558 เป็นต้นไป โดยยังคงความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนและการสอบภายในสถาบันร่วมกัน ต่อมาภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ได้เข้ามาร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนและการสอบภายในสถาบันร่วมกันในปีการศึกษา 2559 และ 2560 ตามลำดับ
ในปีการศึกษา 2560 ทางภาควิชาฯ ได้เริ่มส่งแพทย์ประจำบ้านไปยังสถาบันสมทบเพื่อให้มีประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หลากหลายในชั้นปีที่ 1 และ 3 ชั้นปีละ 1 เดือนที่โรงพยาบาลสมุทรปราการและโรงพยาบาลร้อยเอ็ดตามลำดับ นอกจากนั้นในปีนี้ภาควิชาฯ ยังได้ผ่านการประเมินหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขามะเร็งวิทยานรีเวชจากอนุกรรมการมะเร็งวิทยานรีเวช ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภา ปีละ 1 อัตรา และผ่านการประเมินหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์จากอนุกรรมการแม่และเด็ก ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภา ปีละ 2 อัตรา ทำให้สามารถรับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขามะเร็งวิทยานรีเวชได้เป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2561 และรับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ได้เป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2562 ทั้งสองหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดหลักสูตรที่สามและสี่ของคณะแพทยศาสตร์ มศว (สองหลักสูตรแรกคือ อนุสาขาศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง และอนุสาขากีฬาเวชศาสตร์ของภาควิชาออร์โธปิดิกส์ในปีการศึกษา 2558 และ 2560 ตามลำดับ) แต่เป็นหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสองหลักสูตรแรกของคณะแพทยศาสตร์ มศว ที่ผ่านการรับรองหลักสูตรโดยแพทยสภา โดยมีแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขามะเร็งวิทยานรีเวชคนแรกของภาควิชาฯ คือ นพ.พลศิริ เอกภูมิ