เรื่องข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง (Monkeypox virus) ในจีนัสออร์โทพอกซ์ (genus Orthopoxvirus) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับไวรัสไข้ทรพิษ หรือไวรัสฝีดาษ (Variola virus or Smallpox virus) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษในมนุษย์… โรคฝีดาษลิง มีการค้นพบครั้งแรกจากลิงแสม (Cynomolgus macaque) ที่นำไปใช้ในห้องทดลองในประเทศเดนมาร์กในปี 1959 (2502) ต่อมามีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในมนุษย์รายแรก ในเด็กวัย 9 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในประเทศคองโก (Republic of Congo ปัจจุบันคือ Democratic republic of Congo) ในปี 1970 (2513) ซึ่งโรคฝีดาษลิงมีการระบาดหลักในแถบแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง (central and west Africa) สัตว์ฟันแทะ (rodents) เช่น หนู กระรอก เป็นต้น เป็นแหล่งรังโรค แต่ก็มีรายงานการเกิดโรคในสัตว์ตระกูลลิง เช่น ลิงชิมแปนซี เป็นต้น นอกจากนี้ในปี 2003 (2546) ได้มีการรายงานการระบาดของโรคในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดจากการโดนกัด โดยแพรรี ด็อก (Prairie dog, Cynomys spp.) ที่ได้รับเชื้อจากร้านขายสัตว์ลี้ยง ที่เลี้ยงใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะ (Gambian giant rat และ dormice) ที่นำเข้าจากประเทศกานา (Ghana) ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการประกาศพบผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 550 ราย ใน 30 ประเทศ จาก 4 ใน 6 พื้นที่ตามการแบ่งขององค์การอนามัยโลก (WHO’s six regions) โดยพบมากในประเทศอังกฤษ สเปน และโปรตุเกส…

การติดต่อของโรคฝีดาษลิง

การติดต่อของโรคฝีดาษลิงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทางหลักคือ 1) การติดต่อจากสัตว์พาหะสู่มนุษย์ โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก แพรรี ด็อก เป็นต้น สัตว์ตระกูลลิงก็สามารถป่วยจากโรคฝีดาษลิงได้ แต่โอกาสแพร่เชื้อสู่คนจะต่ำกว่าสัตว์ฟันแทะ การติดต่อจากสัตว์พาหะสู่มนุษย์ มักเกิดจากการโดนกัด โดนข่วน การสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ป่วย หรือการชำแหละสัตว์พาหะที่มีเชื้อ เป็นต้น 2) การติดต่อระหว่างมนุษย์ จะเป็นการติดต่อจากการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งทำให้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อจากผู้ป่วย เช่น จากสะเก็ดแผล (scrab) ตุ่มน้ำพอง (vesicle) ตุ่มหนอง (pustule) หรือการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง (body fluid) ของผู้ป่วย เข้าทางเยื่อเมือกต่าง ๆ จากการระบาดล่าสุดในประเทศอังกฤษ พบการระบาดของโรคมากในกลุ่มของชายรักชาย ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดการแพร่เชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่…

อาการป่วยเมื่อได้รับเชื้อ

หลังจากการได้รับเชื้อ เชื้อไวรัสจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจจะนานถึง 21 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการมีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ต่อมาจะเริ่มมีอาการทางผิวหนังภายใน 1-3 วัน หลังเริ่มแสดงอาการป่วย โดยเริ่มจากมีอาการผื่นแดง เป็นตุ่มพอง ตุ่มหนอง ตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หลังจากนั้นอาการต่าง ๆ จะค่อยหายกลายเป็นสะเก็ดแห้งของผิวหนัง ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ มีรายงานการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงต่ำเพียง 1-10% ที่มีการรายงานในทวีปแอฟริกา แต่มักเกิดในผู้ป่วยที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะเด็กเล็ก

อาการป่วยของโรคฝีดาษลิง จะค่อนข้างคล้ายโรคสุกใส หากมีอาการป่วยที่น่าสงสัย ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย…

การรักษาโรคฝีดาษลิง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะต่อโรคฝีดาษลิง เพราะเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ผู้ป่วยสามารถหายเองได้ การรักษาอาจเป็นเพียงการรักษาตามอาการเช่น การให้ยาลดไข้ หรือตามอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วย…

การป้องกันโรคฝีดาษลิง

ยังไม่มีการป้องกันที่จำเพาะด้วยการฉีดวัคซีน แต่พบว่าการทำวัคซีนฝีดาษ (smallpox vaccination) นั้นสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% นอกจากนี้การใช้มาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ก็ยังเป็นมาตรการที่สามารถใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ จากธรรมชาติในการติดต่อของโรค นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงโดยสัตว์ฟันแทะ หากสัมผัสแล้วควรล้างมือด้วยสบู่ หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคเยอะ แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไปการใช้มาตรการทางสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็น

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง เพื่อทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังโรค

นอกจากนี้การนำสัตว์เลี้ยงต่างถิ่น (exotic pet) ทั้งสัตว์ฟันแทะ และสัตว์อื่น ๆ เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ควรจะต้องนำเข้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ มีการตรวจสอบโรคต่าง ๆ ที่สำคัญก่อนการนำเข้า และควรมีระบบที่สามารถตรวจสอบติดตามได้ (traeability) เมื่อนำเข้ามาในประเทศแล้ว เพื่อเป็นมาตรการป้องกันในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ….